[คุยกับหมอ] การใช้ภาษาเพื่อสร้างความสนิทสนมกับคนไข้

Mai Kanapornchai
1 min readApr 21, 2019

--

สวัสดีค่ะ พบกันอีกครั้งกับบทความใหม่

คราวนี้เป็นเรื่องราวจากนักศึกษาแพทย์ปี 5 ประจำโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลชื่อดังของภาคใต้เลยทีเดียว

เรื่องที่อยากเล่าวันนี้เกี่ยวกับ การราวน์วอร์ด หรือ การเดินเยี่ยมคนไข้ประจำวัน ที่คุณหมอสาวสวยคนนี้บ่นว่าเป็นงานที่จำเจเหลือเกิน แต่กลับเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มและสีหน้ามีความสุข สิ่งนี้ทำให้ฉันอยากรู้เรื่องมากขึ้นแล้วสิ

อธิบายอย่างรวบรัดก่อนว่า โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นโรงพยาบาลนักศึกษาแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัด มีคนไข้มากมายซึ่งมักมีโรคที่หาได้ยากมารักษาตัวที่นี้ ห้องคนไข้จะเป็นห้องรวมใหญ่ แบ่งออกเป็นสองฝั่ง รวมๆก็ประมาณ 80 เตียง

เตียงคนไข้แบ่งเป็น 3 ส่วน เค้าเตอร์พยาบาลตรงกลาง

เมื่อถามว่า ราวน์วอร์ด ต้องทำอะไรบ้างละ?

“อืมม ก็เดินวนประมาณ 3 รอบ รอบแรกเดินตรวจเองก่อน รอบสองกับรุ่นพี่ รอบที่สามกับอาจาร์ยหมอ ถามคนไข้เหมือนเดิมเป๊ะ”

คำถามที่ใช้กับคนไข้ก็เรื่องทั่วไปเกี่ยวกับอาการป่วย คุณป้าเป็นยังไงบ้างคะวันนี้ อาการปวดท้องดีขึ้นบ้างมั้ย บางทีเจอคนไข้ขี้เล่นหน่อย ก็โดนแกล้ง บอกนักศึกษาแพทย์อย่างนึง พออาจาร์ยหมอมา นักศึกษาแพทย์รายงานอาการคนไข้ปุ๊ป คนไข้ก็โพล่งขึ้นมาว่า

“ไม่ใช่นะหมอ ป้าไม่ได้เป็นแบบนั้นสักหน่อย”

อ้าวป้า.. เมื่อเช้าไม่ได้พูดแบบนี้นี่นา เพื่อนหมอฝึกหัดคิดอยู่ในใจ

เล่าๆไป ก็มีประเด็นที่ฉันสนใจมากเกี่ยวกับการใช้ภาษาในการพูดคุยกับคนไข้

ขอย้อนความไปสมัยเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ สักหน่อย เพราะตอนนั้นได้เรียนวิชาภาษาถิ่นและการสะท้อนถึงวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่

ภาษาไทยถือเป็นภาษาที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมที่อยู่กันอย่าง ครอบครัว คำสรรพนามที่เราใช้เรียกคนรู้จักกันเป็นประจำ ทั้ง ป้า ลุง พี่ น้อง นั้นสะท้อนพื้นฐานความสัมพันธ์ของชาวไทยว่า เราอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ ดั่งสายเลือดเดียวกัน ซึ่งสิ่งๆนี้สะท้อนได้จากประโยคแรกของเพลงชาติเรา

“ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อ ชาติเชื้อไทย”

การใช้ภาษาเรียกอย่างสนิทสนมนี้ แตกต่างอย่างมากกับคำสรรพนามที่ใช้ในภาษาสากลอย่างภาษาอังกฤษที่มีเพียง I กับ You เท่านั้น แสดงถึงความสันโดษของสังคมตะวันตก

กลับมาที่วอร์ดคนไข้กันต่อ เพื่อนหมอเล่าว่า

“เนี่ย พูดภาษาจีนทักอากงคนนึง เค้าดีใจมากเลยแก แล้วชวนเราคุยต่อเลย”

ใช้เพียงคำง่ายๆ เช่น หนี่ฮ่าว หรือ กินข้าวรึยังเป็นภาษาจีน ก็สามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ได้เป็นอย่างดี

“ถ้าเป็นคนไทย คนใต้นะ ก็พูดภาษาใต้เลย ยิ่งถ้าคนไข้รู้ว่ามาจากบ้านเดียวกันนะ ยิ่งสนิทเลย คราวนี้มีของฝากมาให้หมอด้วย”

นี่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาษาในการสร้างและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างหมอและคนไข้ รวมทั้งช่วยให้การตรวจคนไข้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะคนใจวางใจหมอ ก็เปิดใจเล่าถึงอาการมากขึ้น บางทีสาเหตุการป่วยอาจซ่อนอยู่ลึกๆข้างใน เช่น อาการเครียดสะสม เมื่อคนไข้เปิดอกบอกหมอ “เครียดเรื่องลูกจังเลย” หมอจึงถึงบางอ้อ รู้สาเหตุที่แท้จริงและรักษาได้ตรงจุด

ภาษา เป็นสิ่งที่เราใช้กันทุกวัน เพียง 1 คำ แต่คุณสามารถรู้ได้ถึงว่าคนๆนี้มาจากไหน เป็นใคร ชาติอะไร เพราะฉะนั้น การเลือกใช้ภาษาที่ดี ก็สามารถช่วยให้การใช้ชีวิต และการทำงานของคุณดีขึ้นได้เช่นกัน

ขอบคุณที่อ่านมาจนจบนะคะ มีความคิดเห็นอย่างไรมาร่วมพูดคุยกันได้ค่ะ

พบกันใหม่บทความหน้าค่ะ

ผู้เขียน Mai Kana

--

--

Mai Kanapornchai

A Content Strategist. Interested in Culture, People, and Design in general. Working in the digital field assisting content and UX team.